วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

112 สยองพระเกียรติ ตอนที่ 6:ไม่แก้ไขบรรลัยแน่ Section 112 06




หรือ :  
http://www.mediafire.com/?fedbtmjlob5wz35
112 สยองพระเกียรติ
ตอนที่
6:ไม่แก้ไขบรรลัยแน่


-ทัศนะในวัยหนุ่มของสุขุมพันธุ์ บริพัตร
ว่าด้วยมาตรา 112

เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ในหนังสือ ลอกคราบ ส.ศิวรักษ์ ตีพิมพ์เมื่อกันยายน 2527 ตอนนั้นมรว.สุขุมพันธ์อายุ 32 ปี เมื่อครั้งที่ส. ศิวรักษ์โดนคดีมาตรา 112
ผมเห็นว่าควรจะมองกษัตริย์ในฐานะที่เป็นคนธรรมดา และคนที่จะสนับสนุนความคิดนี้เป็นคนแรกก็คือพระเจ้าอยู่หัวและ พระราชินี แต่คนบางคนต้องการจะเทิดทูนสถาบันขึ้นไปให้เหนือฟ้า ถ้าได้คุยกับพระเทพ หรือพระราชวงศ์ผู้ใหญ่อื่นๆ จะเห็นว่าท่านก็เหมือนคนธรรมดา คนข้างนอกเท่านั้นที่ทำให้ท่านเหมือนลอยล้ำฟ้าไป ความดีความประเสริฐของพระเจ้าอยู่หัวองค์นี้ก็สืบ เนื่องมาจากท่านทำตัวเป็นคนธรรมดา และนี่เป็นสิ่งที่ประทับใจราษฎรอย่างมาก นับว่าท่านได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันนี้ควรจะกระทำก็ คือเพิ่มความเป็นมนุษย์ของพระเจ้าอยู่หัว, พระราชินีและพระราชวงศ์ต่างๆ เพราะไม่ว่าสถาบันใด ถ้าห่างเหินกับความเป็นจริงมากเกินไป ถ้ามีช่องว่างระหว่างสถาบันกับความเป็นจริงทางสังคม สถาบันนั้นๆ จะอยู่ไม่ได้
สำหรับคนที่จะต้องการสร้างคะแนนทางการเมืองโดยพยายามแสดงความจงรักภักดี เพื่อใช้สถาบันเพื่อประโยชน์ของตนก็มี สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่เกี่ยวกับมนุษย์ ความเป็นมนุษย์และสังคมมนุษย์ และผมคิดว่า การติหรือวิจารณ์เพื่อสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่ควรจะมีและควรจะกระทำ

ความเข้มแข็งของสถาบันขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับข้อครหาข้อวิจารณ์ และถ้าข้อวิจารณ์นั้นเป็นความจริงทั้งหมด หรือเพียงบางส่วน สถาบันก็ควรจะปรับตัวให้ดีขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นสถาบันกษัตริย์หรืออะไรก็ตามถ้าเป็นสิ่งที่อยู่กับที่ เป็นสิ่งที่ไม่เติบโตไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ขยายตัวก็จะเป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว มันเป็นข้ออ้างของคนรุ่นหลัง 2475 ที่อ้างว่าติติงสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ ไม่จริงที่ว่าการติติงทุกอย่างเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการตีความในช่วงหลัง โดยกลุ่มผู้มีอำนาจโดยเฉพาะช่วงหลังจอมพลสฤษดิ์มาแล้ว เป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่จะกำจัดทำลายพวกกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการเหล่านี้
ถ้ามองกลับไปตั้งแต่สมัยสุโขทัยราษฎรมีสิทธิถวายฎีกาต่อพ่อขุนฯ เขามีสิทธิร้องทุกข์ว่าอะไรเป็นธรรมอะไรไม่เป็นธรรมซึ่งส่วนหนึ่งก็หมายถึง ว่าเป็นการติติงการปกครองโดยสถาบันกษัตริย์

แม้แต่รัชกาลที่ 5 ถึงปู่ผม เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก่อนเสด็จยุโรปเขียนไว้ในทำนองว่า พ่อนี้เป็นคนล้าสมัย พ่อนี้อาจจะทำอะไรให้เป็นที่ขวางหูขวางตาคนเขา เป็นหน้าที่ของลูกที่จะวิจารณ์พ่อ ว่าพ่อทำอะไรผิดเพราะฉะนั้นความคิดที่ว่า เป็นเจ้าเหนือมนุษย์เหนือชีวิตเหมือนกับเทวดา มันไม่ใช่เป็นความคิดเก่า
ในหลักการนั้น การติเพื่อก่อไม่ผิดแม้ว่าในประวัติศาสตร์หรือในปัจจุบัน และผู้ที่สนับสนุนสถาบันในประเทศซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่รักสถาบันที่เทิดทูนสถาบัน ไม่ควรจะมีความอ่อนไหวมากนักเกี่ยวกับข้อติวิจารณ์ที่มาจากคนส่วนน้อย คนเหล่านี้ควรจะเข้าใจว่า สถาบันกษัตริย์มีบทบาทมีสถานะที่ลึกซึ้งมากในประวัติศาสตร์ไทย ในโลกทัศน์ของคนไทย ในวัฒนธรรมการเมืองของคนไทย ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจเลย ถึงแม้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้หมดไปแล้ว เมื่อ 2475 ในยุคที่เรียกประชาธิปไตยนี้ ความสำคัญของสถาบันนี้ก็ยังคงมีอยู่ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องการมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ
กษัตริย์ในราชวงศ์นี้ทรงมีบารมีมาตลอด ไม่น่าคิดว่าคำพูดไม่กี่คำ ข้อวิจารณ์ไม่กี่ข้อจะสามารถบั่นทอนความมั่นคงของสถาบันได้ อันนี้เป็นความคิดที่แย่มาก ที่จริงแล้วคนที่ควรถูกจับในข้อหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นคือคนที่มีทำให้สถาบันกษัตริย์ดูเหมือนเป็นสถาบันที่อ่อนแอ คนที่เข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์แตะต้องไม่ได้
อังกฤษมีสถาบันกษัตริย์ที่อยู่เหนือการเมืองจริงๆ มีหน้าที่เพียงทางพิธีการ นอกจากจะมีวิกฤตการณ์อันใดเกิดขึ้น ถ้าดูในอเมริกาสมัยวอเตอร์เกต ที่ผู้นำรัฐบาลกับผู้นำประเทศเป็นคนๆ เดียวกัน เมื่อผู้นำรัฐบาลทำเสีย เกียรติภูมิของผู้นำประเทศก็เลยเสียไปด้วย ทำให้เกียรติภูมิของประธานาธิบดีลดไปด้วย แต่อังกฤษที่มีกษัตริย์เป็นประมุข รัฐบาลเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร เพราะผู้นำประเทศคือกษัตริย์ก็ยังอยู่ เพราะไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้ทำผิด เป็นสถาบันที่อยู่นอกเหนือการเมืองจริงๆ นี่เป็นความคิดที่เราพยายามนำมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทย แต่ว่าก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะว่าคนหลายกลุ่มพยายามใช้สถาบันกษัตริย์ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง การศึกษาประวัติศาสตร์ของอังกฤษเขาเป็นไปในทางวิชาการอย่างมาก กษัตริย์องค์ไหนไม่ดีก็บอกว่าไม่ดี กษัตริย์องค์ไหนดีก็บอกว่าดี คือว่ากันตามข้อเท็จจริง ราชินีอลิซาเบธทำอะไรไม่ชอบไม่ควร เจ้าฟ้าชายชาร์ล เจ้าชายแอนดรูร์หรือเจ้าหญิงแอนด์ซึ่งทำอะไรไม่ดี คนเขาก็ติติง ทำให้ พวกเจ้านายต้องระวังตัวมากขึ้น
เรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง ผลประโยชน์แห่งชาติ หรือความมั่งคงของชาติ เป็นข้อที่วิจารณ์ได้และควรเป็นการติเพื่อก่อ ซึ่งจะทำให้สถาบันกษัตริย์มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นในอนาคต

ไม่มีสถาบันไหน อยู่ได้โดยไม่มีการปรับตัวหรือยอมรับข้อมูลจากภายนอก มิเช่นนั้นก็จะเหี่ยวเฉาตายซากไปในที่สุด  การลงโทษผู้ที่ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ควรจะอยู่ในสถานเบา นอกจากจะพิสูจน์ได้ว่าเจตนาจะโค่นสถานบันสำคัญๆ ของชาติ คือเป็นกบฏ ควรให้โทษสถานเบาถ้าเขาผิดจริง หลังจากลงโทษแล้ว ก็อาจมีการนิรโทษกรรมได้
มีคนเล่าให้ฟังไม่ทราบเป็นจริงแค่ไหน เมื่อ 20 ปีที่แล้วนี้ก็เคยมีตำรวจจะไปจับอาจารย์สุลักษณ์ แล้วผู้ห้ามปรามเอาไว้คือพระเจ้าอยู่หัว เคยตรัสว่าจับเขาไปทำไม ปล่อยให้เขาพูดไปเถอะ ในที่สุดคนก็ไม่ฟังเขาไปเอง อะไรทำนองนี้ ยิ่งจับเขายิ่งทำให้เขาเป็นวีรบุรุษไป เราควรจะยึดมั่นในดำรัสของท่าน การจับนี้ยิ่งทำให้อาจารย์สุลักษณ์เป็นวีรบุรุษและทำให้มีคนอยากอ่านลอกคราบสังคมไทยมากขึ้น และถ้าคนที่ถูกจับเพราะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วออกมาเป็นวีรบุรุษ ผลก็จะตรงกันข้ามกับที่คนเทิดทูนสถาบันต้องการ


บทสัมภาษณ์เมื่อเกือบ 30 ปีก่อนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ดูจะสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์อยู่มาก แสดงให้เห็นว่าฐานความคิดของข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ได้ดำรงอยู่ในแวดวงปัญญาชนมาช้านานแล้ว มิใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด สิ่งสำคัญคือคณะนิติราษฎร์ได้พยายามทำให้กระแสความคิดที่มีอยู่แล้วนั้นกลายเป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นมา
แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งคือ ทุกครั้งที่มีใครออกมาอธิบายเรื่องทำนองนี้ ก็คาดหมายได้ว่าจะมีกระบวนการปลุกปั่นอย่างไร้ยางอายและไร้เหตุผลว่าผู้ที่อธิบายนั้นกระทำการล้มเจ้าบ้าง เนรคุณบ้าง คิดโค่นสถาบันบ้าง สุดแท้แต่อกุศลจิตที่ท่านนั้นๆจะมีอยู่ในการสรรหาถ้อยคำมาลดความมีเหตุผลของมนุษย์ ซึ่งม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แม้จะอยู่ในราชนิกุลก็คงจะประสบปัญหาเช่นกัน จึงได้กล่าวปิดท้ายการสัมภาษณ์ว่าตนมิได้คิดโค่นสถาบันแต่อย่างใด ด้วยข้อความที่ยึดยาวอย่างไม่ควรจะเป็น ดังนี้
ที่ผมให้สัมภาษณ์ เพราะการที่ผมเกิดมาในสายเลือดเจ้า ควรเป็นข้อพิสูจน์อย่างแน่วแน่ว่า ผมนั้นจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ถ้าผมคิดโค่นหรือบั่นทอนสถาบันนี้ ก็หมายความว่าผมพยายามลบล้างตัวเอง ลบล้างรากเหง้าของตระกูลผม ลบล้างวัฒนธรรมแนวความคิดรวมทั้งลบล้างวิญญาณของผมเอง ฉะนั้น ผมคิดว่าอันนี้คงไม่เกิดขึ้นได้.....อีกประการหนึ่ง บรรพบุรุษผมได้เข้ารับใช้ราชการด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดีมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปู่ผมนับได้ว่าเป็นพระบิดาองค์หนึ่งของกองทัพไทยมาตลอด อันนี้ควรจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีเช่นกันว่าเจตนารมย์ของผมไม่ใช่เป็นเจตนารมย์ที่ไม่ดี ตรงกันข้าม ผมให้สัมภาษณ์ด้วยความหวังดีและความห่วงใยเป็นการติเพื่อก่อ ไม่มีเจตนาที่จะดูหมิ่นแต่อย่างใด

เสนอแก้กฎหมายหมิ่น
ให้แย่ยิ่งกว่าเดิม

64 สนช.เสนอเพิ่มโทษ กม.หมิ่นฯ
และ
61 สนช.หนุน กม. ห้ามเสนอข่าวคดีหมิ่นฯ

8 ตุลาคม 2550 สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารที่มีพระเจ้าอยู่หัวเป็นประมุข ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ให้มีการเพิ่มเติมหมวด 1/1 ความผิดต่อพระบรมราชวงศ์ องคมนตรี และผู้แทนพระองค์ ลงในมาตรา 112 โดยมีชื่อบุคคลผู้มีชื่อเสียงได้แก่ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์หรือครูหยุยบุคคลตัวอย่างผู้ช่วยเหลือเด็กและผู้ด้อยโอกาส พลเรือโทพะจุณณ์ ตามประทีปนายทหารคนสนิทพลเอกเปรม คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม อดีตกรรมการผู้จัดการธ.ไทยพาณิชย์ของกษัตริย์ ท่านผู้หญิงปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา อดีตประธานอนุกรรมการกรรมการปปช.คดีนายกทักษิณซุกหุ้น  นายบวรศักดิ์ อุวรรโณเนติบริกรของฝ่ายกษัตริย์ และพวกพันธมิตรเสื้อเหลืองที่กษัตริย์สนับสนุน ได้แก่นายณรงค์ โชควัฒนา นายสำราญ รอดเพชร นายคำนูณ สิทธิสมาน นายประพันธ์ คูณมี  ทั้งนี้ ข้อเสนอมีใจความว่า

มาตรา 112/1 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระราชโอรส พระราชธิดา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 112/2 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ประธานองคมนตรี องคมนตรี หรือผู้แทนพระองค์ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 14/1 ระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่มีการกล่าวหาหรือฟ้องในความผิดต่อองค์มหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในกรณีเห็นสมควร
พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งห้ามมิให้โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์ หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีไม่ว่าสื่อประเภทใด

หากศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้วเห็นว่ามีเหตุอันสมควรเพื่อการคุ้มครองปกป้อง สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ศาลสั่งอนุญาตตามคำร้องและอาจกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีการใดๆ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามคำสั่งห้ามของศาลดังกล่าวได้
การฝ่าฝืนคำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การฝ่าฝืนคำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่งอีกกรณีหนึ่งด้วย และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
คนพวกนี้เป็นเครื่องมือของเผด็จการล้าหลังนิยมกษัตริย์ที่ไม่เคยคิดปรับตัวให้เข้ากับการพัฒนาของโลก แต่กลับมีความคิดดักดานที่จะลากจูงสังคมไทยให้ถอยหลังจมปลักหนักยิ่งกว่าเดิม


เปิดข้อสอบ อ.ศิลปากร กรณีหมิ่นฯ

กรณีผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับบันทึกจาก ผศ.ดร. มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ รักษาราชการแทนคณบดีคณะอักษรศาสตร์ ลงวันที่ 16 ก.ค. 2550 ขอเอกสารกระดาษคำตอบและคะแนนรายวิชาอารยธรรมไทย ตามคำขอของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม เพื่อประกอบการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกลายเป็นกรณีคุกคามสิทธิเสรีภาพ มีรายละเอียดข้อสอบประจำ ปีการศึกษา 2548 ที่เป็นประเด็นดังนี้
- ท่านคิดว่า รัฐชาติไทยควรกำหนดเอกลักษณ์แห่งชาติหรือไม่ เพราะเหตุใด และอย่างไร จงอภิปราย /ความเป็นชาติไทยมีหรือไม่ คืออะไร และควรมีเอกลักษณ์แห่งชาติหรือไม่ 
-ท่านคิดว่าการกระโดดตามรถไฟของกระแสโลกาภิวัตน์ให้ทันเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นประโยชน์กับสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร จงอภิปราย
-ท่านคิดว่า สถาบัน กษัตริย์มีความจำเป็นสำหรับสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และต้องปรับตัวอย่างไรให้เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย จงอภิปราย
-ท่านคิดว่าสังคมไทยควรทำอย่างไรจึงจักกำจัดวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมและศักดินานิยมให้หมดอิทธิพลลงไปได้ จงอภิปราย
-ท่านคิดว่าสังคมไทยมีปัญหาความอยุติธรรมทางสังคมอย่างไรบ้าง และท่านมีแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร  จงอภิปราย
-ท่านมองบทบาทของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยในการต่อต้านระบอบทักษิณเช่นไร การเคลื่อนไหวทางสังคมในแนวทางเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่ และเป็นประโยชน์กับสังคมไทยอย่างไร จงอภิปราย
-ท่านคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ควรเป็นเช่นไร เน้นหนักที่เรื่องใด เพราะเหตุใด จงอภิปราย
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ เป็นผู้ออกข้อสอบให้นักศึกษาตอบแสดงความคิดเห็นในเรื่องซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจในปัจจุบัน แต่กลับถูกแจ้งความข้อหาหมิ่นตามมมาตรา 112  ดูตามข้อสอบแล้ว ผู้ตอบข้อสอบสามารถตอบได้โดยอิสระ ถ้ากลัวประชาชนประเทศนี้จะหมิ่นฯ ก็ควรบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ชัดเลยว่า ห้ามพูดถึงเด็ดขาด ไม่ว่าในแง่ใดๆ ต้องการให้ประชาชนกลัวหรือ รักจริงๆแน่ จะห้ามประชาชนไม่ให้คิดในแง่ลบได้อย่างไร ในเมื่อที่ผ่านมา มีเหตุการณ์มากมาย ที่พาดพิงถึงตลอดเวลา บทบาทของคนหลายคน จะห้ามประชาชนคิดกันว่าทำตามคำสั่งใคร ประเทศนี้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแน่นอน แต่เป็นได้แค่อาณาจักรแห่งความกลัว เมื่อรัฐไม่อาจรับรองหรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ และหลายกรณีได้กลายเป็นผู้จำกัดหรือละเมิดเสียเอง ตรงนี้จะเรียกว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ได้

เจอเธอแล้ว ดา ตอร์ปิโด
หน้า 5
นิวยอร์กไทมส์


ในหน้า A5 ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันที่ 29 สิงหาคม 2552 มีภาพขาวดำขนาดประมาณ 1x1 นิ้ว ของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือที่รู้จักกันดีในนามดา ตอร์ปิโด พร้อมพาดหัวข่าวว่า ประเทศไทย: หมิ่นกษัตริย์ -- ถูกจำคุก 18 ปี  เนื้อข่าวยาวสองย่อหน้า เขียนโดยโทมัส ฟูลเลอร์ ผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทย
นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกตัดสินจำคุก 18 ปีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในข้อหาทำลาย ชื่อเสียงและเกียรติยศ ของกษัตริย์และราชินีไทย ซึ่งคดีนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายคดีที่เกี่ยวกับการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ผู้พิพากษาทั้งสามคนกล่าวว่า ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ซึ่งเป็นอดีตนักข่าว ได้กล่าวพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ให้การสนับสนุนการรัฐประหารเพื่อล้มอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดารณีกล่าวว่า เธอจะยื่นอุทธรณ์ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดมาเป็น เวลายาวนาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีวิกฤติทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผนวกกับความกังวลถึงพระพลานามัยของกษัตริย์ผู้ทรงเจริญพระชนมายุ 81 พรรษา กฎหมายนี้ก็ถูกนำมาบังคับใช้บ่อยจนเป็นเรื่องปกติ 

ศาลตัดสินลงโทษดารณีจากการปราศรัยที่สนามหลวง เมื่อ 18 ม.ค.2551 รวมทั้งในวันที่ 7 และ 13 มิ.ย.2551 มีถ้อยคำที่กล่าวถึงสีเหลือง สีฟ้า ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เห็นว่าจำเลยกระทำการจาบจ้วงล่วงเกิน โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์ทรงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พันธมิตรฯ ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศ รวมทั้งการกล่าวถึงการรัฐประหาร โดยกล่าวถ้อยคำถึงมือที่มองไม่เห็นในสี่เสาเทเศวร์ ซึ่งประชาชนรับรู้อยู่แล้วว่าสี่เสาเทเวศร์คือสถานที่ที่เป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยการแต่งตั้งองคมนตรีนั้น ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนับสนุน พล.อ.เปรม ยึดอำนาจจากประชาชน
ซึ่งแม้ว่าคำพูดของจำเลยไม่บังเกิดผล เพราะไม่มีใครเชื่อ แต่จำเลยไม่อาจพ้นผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พิพากษาจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมรวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี ภายหลังฟังคำพิพากษา น.ส.ดารณีกล่าวว่า ตนจะปล่อยให้คดีจบเด็ดขาด และจะไม่อุทธรณ์ เพราะขณะนี้ไม่ศรัทธากระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังไม่คิดเรื่องที่จะขออภัยโทษด้วย
ข่าวของดารณีอาจทำให้ผู้อ่านที่เป็นชาวอเมริกันหลายคนนึกถึงประเทศเกาหลีเหนือ หลายคนอาจอุทานว่ามันตลกมาก มันทำให้ขนลุก เพราะในยุคนี้ เธอไม่น่าต้องเข้าคุกถึง 18 ปีเพราะการดูหมิ่นกษัตริย์ ...ล้าหลัง . .มันไร้สาระจริงๆ . . ยุคมืด . . . มันบั่นทอนประชาธิปไตย ...มันเป็นการทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ มันเป็นเรื่องน่าขัน และมันก็ได้ทำให้ประเทศไทยดูแย่มากๆ ในตอนนี้ ถ้ามีกฎหมายอย่างนี้ในประเทศอังกฤษ คนกว่าครึ่งประเทศคงต้องเข้าคุกไปแล้วกระมัง สงสัยว่า การมีกฎหมายแบบนี้ ราวกับว่าพวกกษัตริย์สนับสนุนอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 



ถ้าพวกเขาเป็นกษัตริย์ที่ดีและเป็นบุคคลที่น่าเคารพยกย่อง ก็ไม่สำคัญเลยว่าใครจะพูดอะไร มันเหมือนกับว่าพวกเขาต้องการปิดปากเพราะมีความเลวซ่อนอยู่ มันเป็นเรื่องน่าอดสู จากมุมมองของตะวันตก มันเป็นความอัปยศอดสูของคนไทยที่ไม่สามารถพูดความจริงที่ได้รับรู้มาได้ และทำให้คำพูดเหล่านั้นเป็นที่รับรู้มากขึ้น พวกเขาจะทำลายตัวเองเพราะแบบนี้ การทำเช่นนี้ทำให้คำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นมีพลังยิ่งขึ้น มันกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางสังคมไปแล้ว แต่ถ้าในที่สุดแล้ว ดาเลือกที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ ดาก็ได้รับโทษจำคุกไปเป็นปีแล้วใช่หรือไม่ กรณีของดายังคงทำให้อีกหลายๆ คนคิดว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความเท่าเทียมภายใต้กฎหมายของระบอบประชาธิปไตย มันทำร้ายจิตวิญญาณของคนไทยผู้มีใจรักเสรีภาพ รักการแสดงความคิดเห็นและความเท่าเทียมเป็นอย่างมาก แม้ว่าบางสิ่งที่ดาพูดอาจจะหยาบคาย และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หากแต่อนาคตจะเป็นเช่นไร ถ้าคนในสังคมถูกปิดปากและกดขี่ด้วยกฎหมายเช่นนี้
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ยิ่งทำให้ความกลัวฝังรากลึกลงในสังคมไทย และยิ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกเชิดชูยกย่องอย่างไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งประชาชนไทยควรถามตัวเองว่า นี่คือสิ่งที่เขาสามารถหรือควรที่จะภูมิใจหรือไม่ ใครจะสามารถภูมิใจที่ประเทศเรามีกฎหมายอย่างนี้ได้ กฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงเช่นนี้ ทำให้ประชาธิปไตยของไทยก้าวหน้าได้หรือ และกฎหมายนี้ได้ส่งผลเสียต่อการคิดวิเคราะห์ของประชาชนใช่หรือไม่

ความเห็นของสุลักษณ์ ศิวรักษ์
ว่าด้วยคดีหมิ่นฯ ก่อนเดินทางไปอังกฤษ

ประชาไท สัมภาษณ์ สุลักษณ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ ในค่ำวันที่ 7 พ.ย.2551 ต่อกรณีที่เขาถูกจับกุมตัวในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีเนื้อหา พอสรุปได้คือ ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาผิดมาตรา 112 เพราะไปพูดว่าเมืองไทยตอนนี้เราถูกล้างสมองให้เคารพพ่อแห่งชาติ แม่แห่งชาติ เราควรจะเคารพพ่อของเราเอง แม่ของเราเอง แต่ส.ปฏิเสธว่าไม่ได้พูด แต่ถึงพูดก็เอาผิดไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนชัดเจนว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี และองค์รัชทายาท แต่การติติงเรื่องพ่อแห่งชาติ แม่แห่งชาติไม่เกี่ยวกับในหลวงและราชินีเลย

ที่ส.ไปพูดว่าขบวนพยุหยาตราชลมารคสิ้นเปลือง เอาเงินใครมาใช้ เชื่อว่าคนที่มีสติปัญญาต้องเห็นด้วย ถ้าพูดจริง มันก็ไม่ผิด ขบวนพยุหยาตราไม่ได้มีเฉพาะงานพระราชพิธี นายกทักษิณก็เคยจัดเพื่อใช้ต้อนรับ นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในงานโอเปค หมดไปเป็นพันล้าน เป็นเงินภาษีอากรจากเรา ถ้านำเงินนั้นมาใช้ลอกแม่น้ำเจ้าพระยา ทำคูคลองให้สะอาด นี่เป็นการเพิ่มพูนพระบรมราชกฤษฎาภินิหารให้ฟ้าอยู่เย็น แต่ก็ไม่ทำ แล้วจะมาโจมตีว่าหมิ่นฯ ได้ไง เพราะคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือรัฐบาล คนที่อนุมัติเงินทั้งหมดคือรัฐบาล เหมือนเวลานี้มีคนบอกว่างานพระเมรุมาศงานพระศพพระนางฯ คนที่จ่ายเงินคือรัฐบาล คนไม่รู้จักแยกแยะแล้วมาเล่นงานคนที่พูดความจริง ที่จริงคุณส.ก็น่ารู้ว่าที่รัฐบาลต้องจัดงานให้ใหญ่โตก็เพื่อเอาใจพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลจะได้อยู่นานหน่อย ให้ในหลวงรักจะได้ไม่สั่งทหารล้มรัฐบาล

รัฐบาลไม่รู้หรือ ตำรวจไม่รู้หรือว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสก่อนวันเฉลิมพระ ชนมพรรษาเมื่อพระชนมายุ 79 พรรษาว่า ใครก็ตามที่ทำเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นทำร้ายพระองค์ท่านและต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชดำรัสนี้ชัดเจนและรัฐบาลก็ตั้งหน้าตั้งตาบอกว่าจงรักภักดี นี่ตอแหลทั้งนั้น เพราะถ้าจงรักภักดีจริงๆ ก็ต้องเลิก ต้องยุติคดีหมิ่นให้หมด เพื่อเป็นการเพิ่มพูนพระบรมเดชานุภาพเพิ่มพูนพระบรมราชกฤษฎาภินิหาร แต่ก็ไม่ทำ คดี112 เมื่อเกิดขึ้นแล้วรัฐบาลยกเลิกได้ ตั้งแต่เริ่มในชั้นตำรวจ เรื่องนี้ คุณส.ไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ว่ามันเป็นความประสงค์ของวังที่ต้องการกำราบพวกที่บังอาจวิจารณ์กษัตริย์ และรัฐบาลก็ต้องเร่งการปราบปรามอย่างเด็ดขาดเพื่อแสดงความจงรักภักดีแบบที่วังต้องการ

ในหลวงในฐานะที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญฯ ก็เป็นคนหนึ่งเหมือนกับเราทั้งหลาย ก็ต้องใช้กฎหมายหมิ่นประมาท แต่ตอนนี้เราไปพยายามสร้างพระเจ้าอยู่หัวเป็นเทวราชไม่ใช่สมมุติเทพ อันนี้เป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง ซึ่งทุกคนต้องมีความกล้าหาญในการพูด แต่ถ้าพูดเกินเลยความเป็นจริงไปก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายในสมัยราชาธิปไตย มีคนไปกราบบังคมทูลพระองค์ว่า มีคนเขียนด่ารัฐบาลโจมตีรัฐบาล ท่านตรัสตอบว่าถ้ามันโจมตีมาดีฟังขึ้น ก็ต้องทำตามที่เขาเสนอ แต่ถ้ามันโจมตีมาอย่างเลวร้ายก็แสดงความบัดซบของมันเอง คนก็จะลืม ต้องเข้าใจว่าเรื่องคนด่าเป็นเรื่องห้ามไม่ได้ ถ้าเขาไม่ด่าต่อหน้าก็ต้องด่าลับหลัง แล้วสมัยนี้มีเว็บไซต์ บางทีก็จับไม่ได้ ห้ามไม่ได้ วิธีห้ามมีอย่างเดียวคือ ถ้าเขาพูดมามันจริงก็ต้องแก้ไขเสีย ที่คุณส.เล่ามาคงเป็นเรื่องโกหกทำนองเดียวกับเรื่องที่รัชกาลที่ 7 ต้องการพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

สื่อมวลชนต้องมีความกล้าให้มากขึ้น พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ทำหนังสือชื่อประชาชาติ  ให้คนเขียนหนังสือพิมพ์กล้าเพ่ง กล้าพินิจ กล้าวิพากษ์ กล้าวิจารณ์ ถ้าไม่มีความกล้า หรือเอาแต่กลัวหัวหด ก็หมดหวัง ต้องมีมาตรฐาน มีหลักการ พันธมิตรของนายสนธิ ก็ใช้สถาบันกษัตริย์ เป็นเครื่องมือ ที่ชัดเจนคือการเสด็จพระราชดำเนินมางานศพ อันนี้มันชัดซึ่งไม่เป็นคุณต่อสถาบัน เพราะถ้าสถาบันเลือกข้างก็อันตรายไม่ว่าเลือกข้างผิดหรือถูกก็ตาม พันธมิตรประชาชนสนใจอย่างเดียวว่าถ้าสถาบันกษัตริย์เลือกข้างอยู่ฝ่ายเขา เป็นอันใช้ได้ อันนี้เป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ในระยะยาว ส่วนฝ่ายเสื้อแดงบางคนก็โจมตีสถาบันกษัตริย์ไม่ยั้งเลย การให้ข้อเท็จจริงนั้นทำได้ แต่น่าจะต้องใช้ถ้อยคำที่ระมัดระวังและให้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อมหาชน ไม่ใช้ผรุสวาทอันนี้ไม่ถูกต้อง ต้องเตือนสติคนเรื่องนี้ คุณส.ก็น่าจะรู้ดีว่านายสนธิไม่ได้อ้างเอง แต่พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีสนับสนุนนายสนธิจริงๆ ไม่อย่างนั้นนายสนธิคงไม่บังอาจยึดทำเนียบยึดสนามบินโดยไม่มีความผิดแม้แต่น้อย

ช่วงนี้มีสื่อเว็บไซต์มากขึ้น ประชาชนแสดงออกมากขึ้น เพราะถูกกดมานาน โดยเฉพาะเรื่องเบื้องสูง ถ้าเขาออกมาแสดงได้โดยจับตัวเขาไม่ได้เขาก็ต้องออกมาแสดง เราต้องเห็นใจต้องเปิดโอกาสให้เขาเติบโต เหมือนคุณเป็นครูสอนลูกศิษย์ในชั้นเรียน ถ้าเขาเถียงคุณไม่ได้ เขาก็ไปด่าคุณลับหลัง ถ้าคุณเป็นครูที่ดี ต้องให้เขาเถียงคุณได้ ด่าคุณต่อหน้าได้ สังคมจึงจะเจริญงอกงาม เพราะสังคมที่เจริญงอกงามคือสังคมที่มนุษย์สามารถสื่อกันได้ เถียงกันได้ ถกกันได้ ไม่เห็นด้วยกันแต่เคารพอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าสังคมไทยเป็นไปอย่างนี้ได้ และจะเติบโตมากขึ้น


เราต้องเข้าใจว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกสะกดไม่ให้เผชิญความจริงตั้งแต่ 2490 หรือ ตั้งแต่กรณีสวรรคต ซึ่งสำคัญมาก เพราะเป็นกรณีไม่ยอมเผชิญความจริงที่สำคัญที่สุดแล้วเราก็โจมตีคนที่พูดความจริงมาตลอดเช่นอาจารย์ปรีดี ตอนนี้สังคมก็เต็มไปด้วยความกึ่งจริงกึ่งเท็จ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องให้โอกาสคน ให้เขาเติบโต ชนชั้นปกครองต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากในการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ชนชั้นปกครองไม่รู้สึกอย่างนี้ เพราะชนชั้นปกครองต้องการเล่นงานฝ่ายตรงกันข้ามด้วยกฎหมายนี้ และเมื่อคุณเป็นฝ่ายตรงข้ามก็จะถูกกฎหมายนี้เล่นงานคุณ ต้องเปลี่ยนความคิดของคน แต่ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ก็ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เพราะคนของเราถูกระบบการศึกษาล้างสมอง เป็นความรู้ที่ทำให้เราเป็นทาส คุณส.ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาอย่างดีน่าจะรู้ว่าถ้าให้พูดความจริงเรื่องกรณีสวรรคตก็คงไม่มีรัชกาลที่ 9 มายาวนานถึงขนาดนี้ และประเทศไทยก็คงไม่ต้องมาวนๆเวียนๆกับปัญหาเรื่องเจ้าที่มีอำนาจล้นฟ้าเหมือนทุกวันนี้

สมัยนี้ความคิดของคนเปลี่ยนเยอะ ผมถูกจับครั้งแรกในปี 2527 เข้าไปในคุกซึ่งตอนนี้เป็นสวนรมณีนาถ ก่อนหน้านั้นคนที่โดนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าไปในคุก คนคุกก็จะรุมกระทืบ แต่เมื่อปี  2527 ผมเข้าไปในคุก คนในคุกเขาก็รักผมหมดเลย เขาบอกว่ากฎหมายแบบนี้รังแกคน ซึ่งวิธีคิดคนได้เปลี่ยน เป็นนิมิตรหมายที่ดีต้องมองให้ชัด ถ้าใครหนักใจเพราะโดนคดี 112 นี้ ถือว่าคิดผิด เพราะแสดงว่ากำลังคิดเรื่องใหญ่มาก คนรังแกไม่ได้ ขณะที่คนเป็นอันมากถูกรังแกขนาดไหน
การถูกกล่าวหาแบบนี้เป็นเรื่องเล็ก แต่กฎหมายหมิ่นฯรุนแรงเกินไป เพียงกฎหมายหมิ่นประมาทก็น่าจะโดนแล้ว ก็น่าจะนำกฎหมายหมิ่นประมาทมาใช้ เพื่อศักดิ์ศรีของสถาบันเอง สังคมไทยขาดการแยกแยะหรือวิจารณญาณ ถ้าสถาบันกษัตริย์จะอยู่ได้ต้องเป็นเพื่อนกันไม่ใช่เพียงการกราบกราน คนไทยต้องรู้สึกตรงนี้ให้มากขึ้น ในหลวงไปจีนก็ยังต้องเจริญสัมพันธไมตรีกับคนต่างชาติ แล้วทำไมจะต้องมาจับคนไทยด้วยกันที่พูดเรื่องจริง ต้องให้คนมีเสรีภาพในการแสดงออก การเคารพกราบไหว้ที่แท้จริงต้องมาจากใจไม่ใช่การบังคับ สิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือกัลยาณมิตรและกัลยาณมิตรคือ คนที่พูดในสิ่งที่เราอาจจะไม่อยากฟัง มันเป็นเสียงแห่งมโนธรรมสำนึก สิ่งที่คุณส.พูด มันเป็นเรื่องในความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงในรัชกาลปัจจุบัน ที่ทรงโปรดปรานแต่พวกประจบสอพลอ นายกคึกฤทธิ์เป็นรัฐบาลชุดแรกที่ไปเจริญสัมพันธ์กับจีนและท่านก็ให้ลาออกไป ต่อมารัฐบาลชาติชายที่สนิทกับจีนก็โดนรสช.ยึดอำนาจโดยความเห็นชอบของวัง


กรณีที่เกิดขึ้นกับพันธมิตรฯ โดยเฉพาะงานพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่
7 ต.ค. 2551 สถาบันไปเข้าข้างฝ่ายใดก็เป็นการเกลือกกลั้ว การมีสถาบันพระมหากษัตริย์คือมีสถาบันซึ่งไม่อยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เป็นสถาบันทางจริยธรรม วัฒนธรรม สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมีความแนบเนียนที่จะรักษาไว้ คุณส.ก็คงรู้ว่าทั้งในหลวงและราชินีสนับสนุนพวกพันธมิตรมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เสื้อเหลืองที่เขียนว่าสู้เพื่อในหลวงและผ้าพันคอสีฟ้า เพราะวังต้องการล้มรัฐบาลทักษิณ ใครจะกล้าไปแอบอ้าง ถ้ามันไม่จริง...และถ้าไม่จริง ทำไมวังไม่ออกมาปฏิเสธ

ถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์จะมีบทบาทต้องรู้จักเปลี่ยนให้เข้ากับกาลสมัย หลายอย่างแก้ไขไม่ได้ แต่ก็ต้องทำสิ่งที่แก้ได้ คดีหมิ่นฯแม้แก้กฎหมายไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่สามารถยุติคดีได้ ถ้าสามารถยอมรับความจริงได้ จะเป็นทางออกของเมืองไทย เราเริ่มฟังความจริงมากขึ้น รับฟังความเห็นที่แตกต่างมากขึ้นอันนี้จะทำให้คนเติบโต แต่สังคมไทยไม่ทำให้คนเติบโต อย่าไปหวังแก้ปัญหาทันที ต้องแก้ปัญหาในระยะยาว คุณส.น่าจะยอมรับความจริงว่าสถาบันกษัตริย์ทำตัวดักด้านล้าหลังและขัดขวางการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาตลอด
มีการใช้พระเดชต่อผู้ที่ไม่เชื่อฟังการโฆษณาชวนเชื่อด้านเดียว และคนที่หวังดีจริง ก็คงพูดอะไรตรงๆไม่ได้ไม่งั้นก็จะโดนมาตร112 เล่นงาน ส่วนพวกที่หากินกับระบอบกษัตริย์ ก็ใช้มาตรา 112 กำจัดฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ยอมก้มหัวให้ระบอบเผด็จการดักดาน

มาตรา 112 คือ
อาวุธร้ายทางการเมือง

คำว่าหมิ่นประมาทหรือใส่ร้ายป้ายสี  มีรากฐานมาจากคำว่า Libel ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นมาตราที่ประเทศไทยนั้นคัดลอก (แปล) มาจากกฎหมายของอังกฤษโดยตรง ซึ่งมีความหมายไว้ว่า การพิมพ์เรื่องของบุคคลที่ไม่เป็นความจริงและทำให้คนทั่วไปดูหมิ่นเกลียดชังบุคคลนั้น  ความหมายของคำว่าหมิ่นประมาทจึงอยู่บนฐานของ 1) เป็นข้อมูลเท็จ และ 2) ข้อมูลเท็จดังกล่าวส่งผลในแง่ลบต่อบุคคลนั้น คือ ต้องเป็นข้อมูลเท็จที่ส่งผลในด้านลบแก่ชีวิตของอีกบุคคลหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่การตีขลุมไปทั่วอย่างไร้หลักเกณฑ์  ไม่ตรงตามหลักการ และไร้มาตราฐาน อย่างที่เป็นอยู่ โดยอำนาจในการตีความกฎหมายขึ้นอยู่กับความคิดความเชื่อและอคติของผู้พิพากษา ผู้ซึ่งได้รับอำนาจมาโดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบ และการตรวจสอบจากสังคมใดๆเลย ย่อมนำพามาซึ่งความไม่มีมาตราฐานในการพิจารณาคดี ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากอำนาจเผด็จการในทางศาล ทำให้โทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กลายมาเป็นมาตราหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดโครงสร้างความรุนแรงในการพิพากษามนุษย์ด้วยกัน ด้วยความไม่เท่าเทียมกัน

เห็นได้จากกรณีของดา ตอปิโด ที่ต้องโทษคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ด้วยการจำคุกเป็นเวลา 18 ปีและเป็นการดำเนินคดีอย่างลับ ที่ไม่อนุญาตให้มีการประกันตัว ในขณะที่ข้อความที่ดากล่าวนั้นได้ถูกกล่าวซ้ำอีกโดยสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งสุดท้ายกลับหลุดจากคดีนี้ ด้วยเหตุว่า กระทำไปด้วยความจงรักภักดี ทั้งที่ตามหลักการแล้วผู้ที่เผยแพร่ซ้ำ นั้นต้องระวางโทษเดียวกับผู้ริเริ่มถ้อยคำนั้นๆ จุดนี้แสดงชัดเจนถึงความไร้หลักการ และไม่ได้มาตราฐานในการพิจารณาไปพร้อมๆกัน กรณีของ ส.ศิวลักษณ์ ที่กล่าวโจมตี/วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์หลายต่อหลายครั้ง และรุนแรงมากๆ เช่น มีการใช้คำด่า  กลับหลุดจากคดีลักษณะนี้ทุกครั้ง ด้วยอคติว่าจงรักภักดี แต่ดารณีไม่ได้กล่าวโจมตีโดยตรงเลย เพียงแต่เอ่ยถึงสีเหลือง, สีฟ้า, ฯลฯ เท่านั้นกลับโดนโทษถึง 18 ปี
ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าสนธิ ลิ้มทองกุล หรือส. ศิวลักษณ์ สมควรโดนจับเข้าคุก หรือเป็นเหยื่อทางตรงต่อมาตรา
112 นี้อีก เพียงแต่จะเทียบเคียงให้เห็นภาพถึงภาวะอัตตวิสัยในการตัดสินคดีของโครงสร้างเผด็จการทางการศาล ที่เกิดขึ้นจากมาตรา 112 นี้ กรณีที่เพียงแค่ไม่ยืนในโรงหนัง และอีกหลายๆ กรณีที่ล้วนแต่ส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกัน

ในแง่ของโทษมาตรา 112 มีโทษสูงสุดไว้มากถึง 15 ปี ซึ่งมากกว่าในช่วงการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งระวางโทษสูงสุดเพียง 7 ปี  โดยมีโทษในระดับเดียวกับว่าด้วยการตระเตรียมก่อกบฏล้มล้างการปกครองตามมาตรา 114 และยังมีบทลงโทษที่รุนแรงมากกว่าการวางยาพิษคนทั้งชุมชน อย่างในมาตรา 237 อีกต่างหาก แม้แต่คดีฆ่าคนตาย ยังได้รับลดหย่อนโทษไปมา จนกระทั่งโทษน้อยกว่านักโทษคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

ด้วยความที่โทษของ มาตรา 112 มีความรุนแรงมาก และวางอยู่บนฐานของอัตตวิสัยในการตัดสินความ จึงส่งผลให้การนำมาใช้นั้นกลายมาเป็นเครื่องมือชั้นยอดในทางการเมือง และความเป็นเครื่องมือดังกล่าวนั้นก็ได้ก่อระบบความรุนแรงที่น่าสะพรึงกลัวขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทยกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในทางการเมืองไทยมาตลอดหลายทศวรรษทั้งการส่งคนเข้าคุก และเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้แก่ตน และความน่ารังเกียจให้แก่ผู้อื่น และรวมถึงการเป็นการข่มขวัญไปด้วย ซึ่งได้สร้างระบบความรุนแรงขึ้นในสังคมไทย การนำมาตรา 112 มาใช้ลงโทษมีถี่มากขึ้นนับตั้งแต่การถือกำเนิดขึ้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 เพราะการพิจารณาและตัดสินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้นอยู่บนฐานของความไร้หลักการ และมากด้วยอคติ ทำให้การใช้มาตรา 112 มาลงโทษนี้ เป็นการพิจารณาลงโทษด้วยอุดมการณ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ใช่อุดมการณ์ตามแบบประชาธิปไตย

การนำโทษมาใช้ในทางตรง คือกระบวนการส่งคนเข้าคุกนั้น เป็นทั้งการสร้างความรุนแรงทางตรง  และยังเป็นเครื่องมือทางการเมือง เครื่องข่มขวัญ กล่อมเกลา ตั้งแต่ สมัยนายปรีดี พนมยงค์แล้ว และก็ยังคงใช้อยู่เรื่อยๆ และหนักข้อขึ้นทุกที เพราะ 1) เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์เชิงบังคับ ของชาวไทยโดยตรง 2) เป็นมาตราที่ใครอยากจะกล่าวอ้าง กล่าวหาก็ได้ นอกจากนี้หลักการในการพิจารณาคดีนั้นยังอยู่บนฐานของอัตตวิสัยที่มีความเลื่อนลอยสูง และ 3) การมีบทลงโทษที่รุนแรง

เมื่อเกิดการฟ้องแล้ว จะก่อให้เกิดความยากในการตัดสิน ด้วยพลังทางสังคม ที่ไม่ต้องการให้ตัดสินว่าไม่ผิด เพราะประเด็นนี้ถูกทำให้รู้สึกว่า เพียงแค่เรื่องนิดๆ หน่อยๆ ก็ผิดแล้ว คืออ่อนไหวเอาเสียมากๆ ฉะนั้นการกล่าวหาด้วยประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เช่น การไม่ลุกยืนในโรงภาพยนตร์ หรือการกล่าวหาอย่างที่ยังไม่รู้หลักฐานแน่ชัด หรือมีความคลุมเครือสูง เช่น กรณีที่คณะรัฐประหารกล่าวหานายกทักษิณ  หรือกรณีกล่าวหาการปาฐกถาของจักรภพ เพ็ญแข  จนต้องลาออกจากตำแหน่ง เมื่อบวกกับภาวะอัตตวิสัยในการตัดสินความด้วยแล้ว ยิ่งก่อให้ระบบความรุนแรงนี้ฝังรากอย่างเหนียวแน่นในสังคมอย่างหนักข้อยิ่งขึ้นไปอีก

ความง่ายในการฟ้องร้อง ที่ใครคิดจะฟ้องก็ได้นี้เองที่ได้แพร่กระจายระบบแห่งความรุนแรงให้สะพัดไปทั่ว เพราะกลายเป็นระบบที่ทำให้เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถพูดในที่แจ้งได้ ต้องอาศัยการพูดกันอย่างลับๆ มาตรา 112 จึงสร้างโครงสร้างแห่งความรุนแรง โดยการทำให้ ประชาชนกลายเป็นตำรวจลับที่ใช้ความเชื่อส่วนบุคคลคอยสอดส่องจับผิดกันเอง คือการมอบอำนาจให้ประชาชนก่อความรุนแรงให้กันและกันเองภายใต้ภาวะอ่อนไหววิตกจริต
มีข่าวที่น่าสะเทือนใจคือนายนิพนธ์ ลิ้มแหลมทอง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์บางเขน ได้แจ้งความตำรวจ ให้ดำเนินคดีกับลูกศิษย์ตนเองซึ่งเป็นบัณฑิตย์จบใหม่แล้ว ในข้อหากระทำผิดกฎหมายหมิ่นฯ ม.112  เนื่องจากได้รับร้องเรียนว่าลูกศิษย์คนดังกล่าวถูกล่าแม่มดในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง  นักศึกษาคนดังกล่าวถูกแจ้งความตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 และเพิ่งถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีโดยศาลไม่ให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554  รองอธิการฝ่ายกิจการนิสิตว่า จำเป็นต้องแจ้งความ เพราะถูกกดดันจากสภามหาวิทยาลัย และต้องการปกป้องชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย เป็นการสะท้อนวุฒิภาวะความเป็นประชาธิปไตยในสังคมมหาวิทยาลัยไทยอย่างน่าเป็นห่วง ว่าแม้คนระดับรองอธิการบดีนอกจากจะมองไม่เห็นว่า ม.112 ขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยคือหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ ขณะที่มีกระแสการเรียกร้องให้ แก้ไข หรือให้ยกเลิก ม.112
การฟ้องร้องจากผู้ใดก็ได้ รวมเข้ากับระบบการตัดสินคดีอย่างอคติ ทำให้เป็นเรื่องที่ง่ายมากในการใช้มาตรา 112ให้เป็นประโยชน์ทางการเมือง ในระยะหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีการแบ่งฝากทางการเมืองอย่างชัดเจน เป็นฝ่ายเสื้อเหลือง และฝ่ายเสื้อแดงนั้นแทบทุกกรณีที่เป็นคดี112 มีแนวโน้มที่จำเลยฝ่ายเสื้อแดงหรือคนต่อต้านเสื้อเหลืองอย่างชัดเจนจะโดนตัดสินว่ามีความผิด ในขณะที่คดีที่ฝ่ายเสื้อเหลืองจะไม่มีความผิด มาตรา 112 คือเครื่องมือที่ฝ่ายเสื้อเหลืองและ อำมาตย์ซึ่งหมายรวมถึงตุลาการ และที่เหนือกว่านั้นขึ้นไปด้วย ใช้ในการข่มเหงทางการเมืองต่อฝ่ายเสื้อแดง โดยไม่ใช่การหมายหัวเพียงแค่เป็นรายบุคคลแต่เป็นการกล่าวหาต่อทั้งขบวนการเสื้อแดงทั้งขบวนการ รวมทั้งบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับขบวนการเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง
อย่างแฮร์รี่ นิโคไลเดส (Harry Nicolaides ) เป็นการเมืองในระนาบที่ใหญ่กว่า สูงกว่าเสื้อเหลืองเสื้อแดง คือการจัดการเล่นงานขบวนการไม่นิยมเจ้า หรือ ขบวนการไม่นิยมการนิยมเจ้าทั้งขบวนการ โดยขบวนการนิยมเจ้า นั่นเอง
ทำให้ทุกคนที่เป็นคนไทย หรือต่างชาติในไทย ตกเป็นเหยื่อความความรุนแรงของมาตรา
112 ที่ได้กลายเป็นเครื่องกักกันความคิด ที่ไม่อนุญาตให้มีการนำเสนอการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา
และด้วยการบังคับใช้ที่เข้มข้นนั้นทำให้การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ถูกรีดเร้นเค้นออกมาแต่เพียงด้านเดียว คือ การเยินยอ สรรเสริญ  ต้องมีค่านิยมตามแบบคติของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ต้องถูกบังคับให้เป็นไพร่ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว และเชื่อฟังประหนึ่งสุนัขทรงเลี้ยงนั่นเอง ทำให้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนถูกกดให้โงหัวไม่ขึ้น ไม่เปิดช่องทางอื่นให้ประชาชนเลือกเดิน นอกจากแหงนคอรอความช่วยเหลือจากสถาบันกษัตริย์ หรือเครือข่ายกษัตริย์ คือเปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ลงมาคลุกคลีกับการเมืองทั้งที่ ไม่ควรมีสิทธินั้น ไม่ว่าจะกรณีใดๆ นอกเสียจากจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจ และตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ 
ระบบความรุนแรงของมาตรา
112 ก็คือระบบที่เครือข่ายสถาบันกษัตริย์สร้างขึ้นมา เพื่อเปิดประตูสู่การเข้าไปคลุกคลีในเวทีการเมืองของตนนั่นเอง

ระบบความรุนแรงของมาตรา 112 นั้นเป็นส่วนที่สำคัญมากของพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ทั้งยังให้อำนาจในการอภัยโทษ ให้เอกสิทธิ์สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายทั้งมวล รวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย ทำให้ผู้ต้องหาหรือต้องขัง คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ยิ่งขึ้นไปอีก
จากที่เดิมทีก็ตกเป็นเป้าประณามของประชาชนที่ตกอยู่ใต้ภวังค์แห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว เมื่อมาอยู่ในคุกก็ถือว่ามีโทษหนักไม่น้อยกว่าการฆ่าคน หรือค้ายาเสพติดจำนวนมหาศาล นักโทษเหล่านั้นเองก็มีส่วนที่ตกอยู่ใต้ภวังค์แห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย ทำให้ผู้ต้องหาคดีหมิ่นตกอยู่ในสถานะที่ย่ำแย่มาก และถูกเพ่งเล็ง หรือถูกกลั่นแกล้ง ดารณี ชาญเชิงศิลปกุลเริ่มแรกเลยก็โดนกักเดี่ยว ไม่ให้เข้าร่วมสังคมใดๆ กับผู้อื่นในช่วงกลางวัน ประมาณ 2 เดือน ชื่อและหน้าตาของเธอเป็นที่รู้จักของคนแทบทั้งเรือนจำ เนื่องจากมีการปิดประกาศป้ายชื่อ เป็นนักโทษที่มีคดีร้ายแรงที่สุด ที่มี 5 คนเท่านั้น อีก 4 คน ผู้มีคดีฆ่าคนตายบ้าง หรือค้ายาเสพติดเกินกว่าหนึ่งหมื่นเม็ด ทำให้คุณดารณีเป็นที่จับตามองทั้งในหมู่ผู้ต้องขังเอง และต่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ด้วย ในระยะแรกดารณีได้รับเลือกให้เป็นแม่ห้อง คล้ายกับหัวหน้าห้อง ในห้องขังหนึ่งๆ ซึ่งทำให้เธอมีภาระหน้าที่มากขึ้น แล้วก็โดนถูกปลดออกจากตำแหน่งแม่ห้อง เมื่อนักโทษคนอื่นขึ้นมาเป็นแม่ห้อง ก็ได้มีส่วนในการกลั่นแกล้งคุณดารณี เช่น การไม่อนุญาตให้ไปเข้าห้องน้ำ
เมื่อคุณดารณีป่วย ซึ่งทางโรงพยาบาลของทางราชทัณฑ์เองรักษาให้ไม่ได้ เนื่องจากขาดอุปกรณ์ จึงมีการทำเรื่องขอต่อศาลเพื่อนำตัวออกจากเรือนจำเป็นการชั่วคราว แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธินั้น โดยศาลอ้างว่าทางราชทัณฑ์เองก็มีโรงพยาบาลอยู่ ในขณะที่โรงพยาบาลของราชทัณฑ์นั้นเอง บอกให้คุณดารณีหาทางออกมารักษาข้างนอกนอกจากนี้ยังมีการบีบให้คุณดารณียอมเซ็น ไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยม ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่จะให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ ทุกๆครั้งที่มีการกระจายข่าวเรื่องความไม่ยุติธรรมต่อคุณดารณีที่เกี่ยวพันธ์กับทางราชทัณฑ์ให้เป็นที่รู้กันในทางสาธารณะจะเป็นการช่วยลดความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดกับผู้ต้องขังผู้นี้ได้ เพราะทางราชทัณฑ์จะทำการระงับบทลงโทษที่จัดหามาให้คุณดารณีทันที เพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ข้อความส่วนที่เกี่ยวกับราชทัณฑ์ออกไป

ทำให้เห็นถึงการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมและรุนแรงต่อผู้ต้องขังในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่ไม่ ยุติธรรมทั้งจากสังคมภายนอก เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ บางส่วน และในหมู่ผู้ต้องขังด้วยกันเอง โดยเฉพาะกรณีของดารณี ที่เคยยืนยันว่าจะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจของสถาบันกษัตริย์อย่างหนักข้อขึ้นไปอีก
มาตรา
112 จึงก่อให้เกิดระบบความรุนแรงที่บังคับให้ทุกคนคิดได้ในทางเดียว และกำจัดความเห็นอีกทางหนึ่งด้วยทุกวิถีทาง ทำให้ประชาชนทุกคนที่เกิดบนแผ่นดินไทย กลายเป็นเหยื่อของวาทกรรม เป็นเหยื่อในระบบความรุนแรง ที่ใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่งบนดินแดนที่พยายามจะเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย

กรณีคุณจิตรา คชเดชอดีตผู้นำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เพียงแค่สวมเสื้อยืดที่มีข้อความว่าไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม ไปออกรายการทีวีช่องเอนบีที ยังโดนศาลแรงงานตัดสินว่าผู้นำสหภาพแรงงานจิตรา คชเดชไม่มีวิญญาณประชาชาติไทย โดยที่ศาลอ้างพจนานุกรมหมายถึง ประชาชนคนไทยให้ความเคารพ ยกย่อง เทิดทูนพระมหากษัตริย์ บริษัทที่อ้างว่าทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง และเลิกจ้างดิฉันเพราะว่ามีทัศนคติที่ไม่จงรักภักดี เช่นวันจันทร์ บริษัทให้ใส่เสื้อเหลืองก็ไม่ใส่ วันที่สมเด็จพระพี่นางสวรรคตให้ใส่เสื้อดำก็ไม่ใส่ ตอนที่บริษัทให้พนักงานลงชื่อถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งคุณจิตราก็ไปลงชื่อ แต่บริษัทก็อ้างว่าเธอไม่จริงใจ เพราะใส่เสื้อลายสก็อตมา ทุกวันนี้ กลายเป็นว่ากฎหมาย 112 ถูกหยิบมาใช้กับคนที่คิดว่าใช้กฎหมายอื่นๆ จัดการแล้วไม่ได้ผล
โดยสรุป มาตรา
112 และการนำมาใช้นั้น ได้ก่อระบบความรุนแรงทางโครงสร้างขึ้น ที่บังคับให้ทุกคนคิดได้ในทางเดียว และกำจัดความเห็นอีกทางหนึ่งด้วยทุกวิถีทาง โครงสร้างความรุนแรงดังกล่าวนั้นได้ทำให้ประชาชนทุกคนที่เกิดบนแผ่นดินไทย กลายเป็นเหยื่อของวาทะ เป็นเหยื่อในระบบความรุนแรง ที่ใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่งบนดินแดนที่พยายามจะเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย

ต่างชาติได้ปล่อยตัวเร็ว
แต่ต้องปิดปากเงียบ

นายโอลิเวอร์ จูเฟอร์ (Oliver Jufer) ชายชาวต่างชาติคนแรกในรอบ 10 ปีที่ถูกจับกุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยการพ่นสีสเปรย์ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2549 ด้วยความมึนเมา ศาลตัดสินเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2550  ด้วยความผิด 5 กระทง ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 75 ปี โดยให้จำคุก กระทงละ 4 ปี รวมทั้งหมดเป็นเวลา 20 ปี แต่เนื่องจากรับสารภาพแต่โดยดี จึงได้รับการลดโทษเหลือเพียงการจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้วเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2550 หลังจากถูกศาลตัดสินเพียง 13 วันโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเนรเทศเขาออกนอกประเทศ หลายฝ่ายก็ได้วิเคราะห์กันแล้วว่าคดีจะต้องออกมาในรูปนี้คือเขาได้รับอภัยโทษและถูกเนรเทศออกนอกประเทศเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรายต่อไป ที่อาจจะกระทำการใดๆ เข้าข่ายกรณีของเขาได้ในอนาคต

คดีนี้ทางยุโรปเขาวิพากษ์วิจารณ์กันหนัก หากไม่ปล่อยกลับประเทศมีหวังไทยจะเสียชื่อมาก การทำลายโปสเตอร์ในประเทศที่เจริญทางจิตวิญญาณไม่งมงายแล้วเช่นที่ยุโรปกับอเมริกา จะมีโทษน้อยมาก ไม่ถึงกับจะจำคุก 10 ปีแบบประเทศไทย ฝรั่งคนนี้คงระบายความไม่พอใจหลังจากมีการรัฐประหาร 19 กันยาโดยคณะยึดอำนาจที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีภาพการนำคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าโดยประธานองคมนตรี ในกรณีที่ชาวต่างประเทศถูกจับกุมตามมาตรา 112  จะมีการพระราชทานอภัยโทษให้ในเวลาไม่นานนัก เห็นได้จากกรณีนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์ (Oliver Jufer) ชาวสวิสที่ถูกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและต้องโทษจำคุกถึง 75 ปี จากการยอมรับสารภาพว่า จะไม่แสดงความเห็นในทางที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ และได้รับการลดโทษลงเหลือจำคุกเพียง 10 ปี เขาถูกปล่อยตัวจากการพระราชทานอภัยโทษหลังจากที่ถูกจำคุกอยู่เพียงแค่ 13 วัน

ตามที่เคเบิ้ลทางการทูตของสหรัฐฯที่เขียนโดยทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเมื่อปี  2550 ราล์ฟ บอยส์ ( Ralph Boyce )มีข้อความว่า ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้เป็นแค่เครื่องมือทางการเมือง ในกรณีที่ประชาชนชาวอเมริกันเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีนี้ รัฐบาลสหรัฐควรจะเงียบเอาไว้ เพราะรัฐมนตรีลอเออร์ (Lauer) ของสวิสเซอร์แลนด์ เชื่อว่าการที่จูเฟอร์ (Jufer) ได้รับพระราชทานอภัยโทษอย่างรวดเร็วมาจากการที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ไม่ได้แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าหน้าที่ของไทย โดยไม่มีการออกมาให้ความเห็นแก่สาธารณะ เพราะว่ากระทำเช่นนั้นอาจจะนำไปสู่การยั่วยุให้สาธารณชนไทยเกิดความโกรธเนื่องจากพระมหากษัตริย์นั้นเป็นที่เทิดทูนมาก การให้ความสนใจมากเป็นพิเศษของสื่อ และการร้องแรกแหกกระเชอของประเทศสวิสเซอร์แลนด์จะเป็นอุปสรรคต่อการปล่อยตัวของจูเฟอร์ ( Jufer ) แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องแสดงให้ชาวสวิสเห็นว่าทางการได้ทำการช่วยเหลือเต็มที่

หากมีชาวอเมริกันถูกจองจำด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความพยายามอุทธรณ์ของเจ้าหน้าที่สหรัฐ จะเท่ากับเป็นการราดน้ำมันใส่กองไฟ เห็นได้ชัดในคดีที่มีการเอาเรื่องนี้ออกสู่สาธารณะของนายโจ กอร์ดอน ( Jo Gordon ) ชาวอเมริกัน อายุ 54 ปีที่ถูกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเดือนพฤษภาคม 2554 กรณีที่ให้ลิ้งค์เพื่อดาวน์โหลดบทแปลของ “ The King Never Smiles ” ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทย เขาอาจจะถูกจองจำโดยที่ยังไม่มีการส่งฟ้องต่อศาลเป็นระยะเวลา 84 วัน
ขณะนี้นายกอร์ดอนยังอยู่ในช่วงการจำคุกเพื่อรอวันไต่สวนในคดีของนายกอร์ดอน เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ได้ทำการกดดันผ่านสาธารณะ เพื่อให้มีการปล่อยตัว และให้มีการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างรวดเร็ว ในขณะนี้ตัวแทนของสถานทูตสหรัฐฯ นั้นไม่ใช่ทูตบอยส์แล้ว แต่คือทูตคริสตี้ เคนนี่ย์ ( Christie Kenny) ซึ่งได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับคดีนี้ โดยเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

ดังนั้นเมื่อมีชาวต่างชาติถูกจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทางสถานทูตของแต่ละประเทศ ควรจะทำงานอย่างเงียบเชียบอยู่เบื้องหลัง , หลีกเลี่ยงการร้องแรกแหกกระเชอในสื่อต่างๆ, เคารพในกฎหมาย, และคาดหวังสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งก็คือการพระราชทานอภัยโทษ
แม้ว่าวิธีนี้อาจจะได้ผลบ้างในบางกรณี แต่มันก็ไม่ถือว่าเป็นประโยชน์ในระยะยาว ด้วยเหตุที่ว่ามันยังเป็นการยอมให้กฎหมายที่ล้าหลังและกดขี่นี้ยังมีอยู่ต่อไป โดยไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือตั้งคำถามในระดับนานาชาติในยุคสมัยโลกาภิวัตน์นี้

ถึงเวลาแล้วที่นานาชาติจะมองภาพใหญ่ที่ชี้ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา
112 นั้นผิด ชาวไทยและต่างชาติทุกคนจะต้องไม่เจอกับโทษจำคุก เพียงเพราะว่าพวกเขาแค่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ประเทศไทยควรจะมีการปกครองอย่างไร ประเทศไทยควรถูกประณามเรื่องการใช้กฎหมายนี้จนกว่ามันจะถูกยกเลิกไป


ข้อเสนอเรื่อง 112
ข้อเสนอ 7 ประการ สรุปได้ดังนี้

1. ยกเลิก มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพราะบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปี 2519 ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
2. เพิ่มเติมลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แทนที่จะเอาไว้ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

3. แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ ยกเลิกโทษเกี่ยวกับราชินี และรัชทายาท เพราะไม่ได้เป็นประมุข เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งแยกการคุ้มครองระหว่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับ ตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในความผิดฐานอื่นๆ เช่น การปลงพระชนม์ การประทุษร้าย
4.โทษ จากเดิมให้จำคุก 3-15 ปีให้เปลี่ยนเป็นไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ, ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดต่อพระมหากษัตริย์ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดนี้ต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดให้การติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่มีความผิด
6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษความผิดฐานต่างๆในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี การพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์
7.ผู้มีอำนาจกล่าวโทษเปลี่ยนจากบุคคลทั่วไปเป็นสำนักราชเลขาธิการ

คำอภิปราย
ในที่สุดแล้วตัวบทกฎหมายเป็นสิ่งที่ขึ้นกับอุดมการณ์ทางการเมือง การตีความของศาลก็ไม่ได้แยกกันอยู่แบบโดดๆ ต่อให้เราแก้กฎหมายทั้งหลายได้เอง ศาลก็ยังไม่ตีความแบบให้เสรีภาพ

ใครดูหนังเจเอฟเค JFK เรื่องการสังหาร ประธานา ธิบดีเคเนดี้ คงจะรู้ว่าโอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) คนสร้างหนังมองว่ารองประธานาธิบดีเป็นคนวางแผนฆ่า โดยการปะติดปะต่อเหตุการณ์เชื่อมโยงเอาเอง กรณีแบบนี้เป็นการเสนอความเป็นจริงที่เป็นข้อยกเว้นความผิดหรือเปล่า ถ้ามีการเสนอกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ในทิศทางเดียวกัน จะเป็นขอยกเว้นได้หรือไม่ แน่นอนว่าในสหรัฐถือว่าเป็นการแสดงความเห็นที่ได้รับการคุ้มครอง ถ้ามีคนสร้างหนังหรือละครทีวีเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 จำลองเหตุการณ์ในวันสวรรคตที่มีการทำลายหลักฐานของฝ่ายราชวงศ์ และสถานการณ์ในช่วงนั้นที่ชี้ชัดไปยังผู้ต้องสงสัยตัวจริง จะทำได้หรือไม่ ซึ่งคงเป็นไปได้ยากมากในสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ เพราะแค่ละครเรื่องพระเจ้าตากสินตอนปลายรัชกาลที่ถูกพระยาจักรีโค่นราชบัลลังก์ก็ยังเคยถูกแบนไม่ให้ออกอากาศ เรื่องเดอะคิงส์แอนด์ไอตามบันทึกของนางแอนนาเลียวโนเวนส์ก็ห้ามถ่ายทำในไทยและเป็นภาพยนต์ต้องห้าม จะสังเกตว่ามีแต่การสร้างพระนเรศวรหลายเรื่องหลายตอน ทั้งๆที่พระเจ้าตากสินน่าจะเป็นกษัตริย์ที่กู้เอกราชจากพม่าอย่างแท้จริงมากกว่า

ลำพังตัวกฎหมายไม่มีความหมายโดยตัวเอง กฎหมายโดยตัวมันเองไม่มีอะไรหรอก ฝรั่งก็มีบทบัญญัติแบบนี้ แต่มันไม่มีความหมายอะไรเลย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสนอแก้โดดๆไม่ได้ ต้องแก้กฎหมายไปพร้อมอุดมการณ์ จึงต้องให้ยกเลิกอุดมการณ์ไปพร้อมๆกันด้วยบรรดาประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็มักจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะหรือละเมิดไม่ได้ แต่ไม่เคยใช้สองคำนี้ด้วยกัน กรณีญี่ป่นที่เป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญที่ไทยลอกมานั้นเคยเขียนไว้เช่นนั้น แต่ตอนนี้ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นไม่มีคำนี้อยู่เลย แต่ใช้คำกลางๆว่าสถาบันกษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ถึงความสามัคคีของประชาชน รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นได้ตัดเอาข้อความ "เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" ที่เป็นต้นแบบรัฐธรรมนูญไทย ออกจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพราะสถาบันจักรพรรดิถูกนำไปอ้าง ในทางการเมืองและสงคราม กฎหมายหมิ่นประมุขของไทยในระบอบประชาธิปไตย ควรไม่ต้องมีเป็นพิเศษ และให้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดาแทน เพราะในแง่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ กฎหมายฉบับนี้ได้เป็นเสาค้ำสำคัญให้กับการปกครองที่ละเมิดหลักการประชาธิปไตย ในลักษณะที่รุนแรงมาก เช่นเดียวกับกรณีรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ที่เอามาตราว่าด้วยเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ ออก เพราะความเป็นมาของการที่มาตรานี้ และอุดมการณ์ ที่ห่อหุ้มมาตรานี้ ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงคราม จึงไม่ควรต้องมีกฎหมายหมิ่นประมุขเป็นกรณีพิเศษ

ประเทศไทยได้มาถึงจุดที่ต้องแก้การใช้อำนาจที่ล้อมรอบสถาบันกษัตริย์ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ไม่อาจจะบรรลุเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย แต่ภายใต้อุดมการณ์หรือระบอบคิดแบบราชาธิปไตยนิยมกษัตริย์ของไทยที่ทุกสองทุ่มยังมีรายการข่าวในพระราชสำนัก ตราบใดที่ทุกโรงเรียนยังมีการสั่งสอนแบบเดิม ต่อให้เกิดปาฏิหาริย์ทำให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ได้ ก็ยังไม่มีผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ช่วยให้การอภิปรายกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 หรือกรณี 6 ตุลาฯ ทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ คือ ยังพูดไม่ได้เต็มที่เหมือนเดิม


การรณรงค์เรื่องสถาบันกษัตริย์นั้น ต้องยกเลิกเรื่องสองมาตรฐานที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถ้าเอาวิธีการแบบที่ทำกับสถาบัน มาใช้กับนักการเมือง เช่น มีข่าวทุกๆสองทุ่มสรรเสริญเยินยอนักการเมือง และห้ามวิจารณ์นักการเมือง ประชาชนจะทนได้แบบนี้ไหม ทำไมปัญญาชนนักวิชาการไทยจึงสามารถทนเรื่องแบบนี้ได้มากและยาวนาน เราไม่ได้จะละเมิดสิทธิคนที่รักในหลวง
ขณะที่มีกฎหมายห้ามหมิ่นกษัตริย์ มีการอบรมสั่งสอนประชาชนให้รักและเทิดทูนกษัตริย์มาเป็นสิบๆปี แล้วจะมาอ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่รักในหลวง จะถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนจริงๆหรือไม่ ในเมื่อมีแต่การบังคับและการโฆษณายัดเยียดด้านเดียวตลอดเวลาอันยาวนาน สิ่งที่แสดงออกไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิรักหรือเคารพในหลวงเลย ลองคิดกันให้ดีว่าทำไมจึงเกิดการสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองที่ออกมาเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553  ทั้งๆที่พรรคประชาธิปัตย์เคยยุบสภาด้วยเรื่องที่เล็กกว่านี้ ทุกคนยุบสภาด้วยเรื่องเล็กกว่านี้และกลับมาไม่ได้ รัฐบาลที่ยุบสภาแล้วกลับมาได้คือรัฐบาลทักษิณ ทำไมอภิสิทธิ์ไม่ยอม สุเทพ อนุพงษ์ไม่ยอม คำตอบก็คือ กลัวพรรคเพื่อไทยชนะ กลัวทักษิณขึ้นมา คำตอบสุดท้ายก็คือกลัวว่าอำนาจและความนิยมของทักษิณจะขึ้นมาเทียบกับสถาบันกษัตริย์ นี่คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุด การดำรงสถานะของสถาบันกษัตริย์ไทยนั่นเองที่เป็นเหตุให้มีการสังหารหมู่ประชาชนกลางกรุงเทพมหานคร เพราะคนจะไม่มีทางมาฆ่ากันถ้าสถาบันกษัตริย์ไม่ดำรงสถานะขนาดนี้ วิธีการแก้ก็คือต้องยุติสถานะนี้ คือเปลี่ยนให้เป็นองค์กรประมุขธรรมดาแบบญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ ที่สำคัญปัญญาชนทุกคนต้องช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนตื่นรู้ถึงอันตรายเรื่องสถานะของกษัตริย์ 
..........................





ไม่มีความคิดเห็น: